การสื่อสารข้อมูลได้มีการศึกษาและพัฒนาวิธีการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานนับตั้งแต่มนุษย์ถ้ำได้คิดค้นวิธีการวาดภาพบนผนังถ้ำเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ตนเอง ชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือได้พัฒนาวิธีการส่งข่าวสารโดยการใช้สัญญาณควันเพื่อเตือนภัยร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่พวกพ้อง แม้วิธีการจะแตกต่างกันออกไปตามเผ่าพันธุ์และระยะเวลา แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกันคือ จะต้องใช้อุปกรณ์หรือวิธีการใด ๆ ทางกายภาพสำหรับส่งข่าวสาร และวิธีการแปลงรูปแบบของข่าวสารให้สามารถส่งผ่านอุปกรณ์ที่เลือกใช้ ได้ให้กลายเป็นกลุ่มควันในลักษณะต่าง ๆ กัน วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการสื่อสารข้อมูล
การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในยุคใหม่ทำให้โลก ซึ่งเคยเป็นพื้นที่กว้างใหญ่มหาศาลดูเหมือนว่ามีขนาดเล็กลงเนื่องจากความรวดเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล แต่เดิมทีต้องรออ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้นเพื่อทราบข่าวการจลาจลที่เกิดขึ้นในวันที่ผ่านมา สมัยนี้สามารถทราบข่าวสารที่เกิดขึ้นทุกหนแห่งในโลกนี้ในทันทีที่ข่าวสารนั้นเกิดขึ้นผ่านทางสื่อโทรทัศน์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นความต้องการพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้อีกต่อไป
1.1 ความหมายของการสื่อสารข้อมูล (Data Communication)
ก่อนที่จะศึกษาเกี่ยวกับระบบการสื่อสารข้อมูล ควรจะทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “การสื่อสารข้อมูล” ให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างให้พิจารณาดังต่อไปนี้
สุริยัน ศรีสวัสดิ์กุล (2540 ,5) ได้กล่าวว่า การสื่อสารเป็นการส่งข้อความหรือข้อมูลใด ๆ จากจุด ๆ หนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายของการส่งนั้นไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในรูปแบบใดก็ตามจะต้องประกอบด้วยแหล่งกำเนิดซึ่งเป็นแหล่งสร้างหรือให้ข้อมูลข่าวสาร จากนั้นจะต้องส่งผ่านเข้าไปยัง ตัวกลาง ซึ่งทำหน้าที่เป็นพาหนะนำเอาข้อมูลหรือข่าวสารนั้นไปยังผู้รับ
พิพัฒน์ หิรัณย์จณิชชากร (2542 ,7) ได้กล่าวว่า การสื่อสารข้อมูลเป็นแขนงหนึ่งของระบบ การสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารเป็นการส่งข้อมูล (Data) หรือข่าวสาร (Information) จากที่หนึ่งไปยังอีก ที่หนึ่ง ข่าวสารที่ถูกส่งออกไปอาจจะเป็นเสียง ข้อความจะอยู่ในลักษณะของข้อมูลฐานสองที่ถูกเข้ารหัสเป็นรหัสแอสกี หรือรหัสที่เหมาะสมแก่การถ่ายทอด โดยผ่านวงจรสื่อสาร ซึ่งอาจจะเป็นระบบการส่งทางคลื่นไฟฟ้า หรือคลื่นแสงก็ได้
ฉัตรชัย สุมามาลย์ (2544 ,17) ได้กล่าวว่า การสื่อสารข้อมูล หมายถึง กระบวนการส่งข้อมูลโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์จากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งโดยการติดต่อระหว่างคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งหรือการติดต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับแหล่งข้อมูล ซึ่งสามารถส่งข้อมูลไปมาถึงกันได้ สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันและแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในต่างท้องที่กันได้ปกติ การสื่อสารข้อมูลนั้นคอมพิวเตอร์มักจะอยู่ใกล้กัน เช่น อยู่ในห้องเดียวกัน ในอาคาร เดียวกัน หรือการติดต่อกันโดยใช้สายเคเบิล เป็นต้น
สัลยุทธ์ สว่างวรรณ (2544,15) ได้กล่าวว่า การสื่อสารข้อมูล หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดหรือนำส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งผ่านสื่อชนิดใด ๆ ก็ได้ ข้อมูลอาจเป็นข้อความ รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ที่ต้องการถ่ายทอด และการสื่อสารเกิดขึ้นระหว่างอุปกรณ์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สองเครื่องขึ้นไป
จากคำจำกัดความดังกล่าวมาแล้ว อาจสรุปได้ว่าการสื่อสารข้อมูลหมายถึงการถ่ายทอดข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสาร การถ่ายทอดข้อมูลจะเกิดประสิทธิภาพ สูงสุดก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นถูกเปลี่ยนให้ไปอยู่ในรูปแบบที่เหมาะแก่การถ่ายทอด ซึ่งจะเป็นลักษณะที่เหมาะสมแก่ผู้ส่งและผู้รับข้อมูล อุปกรณ์ที่ใช้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว การสื่อสารจึงเป็นการเจาะถึงการส่งข่าวสารที่ถูกเปลี่ยนให้ไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital) ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจได้เพื่อจัดการนำส่งผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารทั้งในรูปแบบดิจิทัลหรือแบบ
แอนะล็อก (Analog) ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทอดข้อมูลจะต้องสามารถ ตรวจสอบและแก้ไขได้